วัดหนองบัวเจ้าป่า

วัดหนองบัวเจ้าป่า  www.wnbcp.archbru.com  

ที่ตั้ง : วัดหนองบัวเจ้าป่า หมู่ที่ 5 ต.สตึก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์    

อายุของอาคาร 61 ปี สร้างในปี พ.ศ. 2488

 

 

          ประวัติความเป็นมาของอาคาร  ในอดีตบริเวณริมแม่น้ำมูลแห่งนี้กลุ่มคนชาวไทยกวยที่อพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญในการจับช้างมาตั้งรกรากอยู่  หลังจากที่โขลงช้างป่าได้อพยพหนีไปอยู่เขตเขาใหญ่  ประกอบกับการเพิ่มของผู้อาศัยหลายครัวเรือนขยายจนเป็นหมู่บ้าน  จนในปี  พ.ศ. 2450  ชาวบ้านได้จัดสร้างที่พักสงฆ์ขึ้นโดยการนำของ  นายนวน  กานะ  ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน  โดยได้จัดสร้างวัดใกล้หนองบัว  จึงได้ชื่อว่า  วัดหนองบัวเจ้าป่า  ซึ่งในการสร้างอุโบสถนี้ได้สร้างขึ้นในปี  พ.ศ. 2488  โดยมีพระครูสุจิตต์  ธรรมประหัฏฐ์  (หลวงพ่อเฮา)  ตำแหน่งเจ้าอาวาส  (พ.ศ. 2486 2496)  เจ้าคณะอำเภอและรองเจ้าคณะจังหวัดในขณะนั้นเป็นผู้นำ  โดยได้รับความร่วมแรงร่วมใจ  มีจิตศรัทธาและบริจาคทรัพย์จากชาวบ้านใกล้เคียง  ได้แก่  บ้านขาม  บ้านคูขาด  บ้านหนองไผ่  บ้านสะกระจาย  ร่วมก่อสร้างเริ่มจากการปรับพื้นที่  ถางป่าไผ่  ถมดิน  (นายโสม  สายสร้อย  กล่าวว่าอุโบสถสร้างค่อมตอต้นโพธิ์)  โดยช่วยกันขนดินตลิ่งแม่น้ำมูลมาถม  ใช้ไม่ไผ่มาทำเป็นไม้ทุบหน้าดินเพื่อให้ดินแน่น  ส่วนตัวอุโบสถได้ว่าจ้างช่างชาวญวนที่มีฝีมือทางช่างก่อสร้างถนัดงานปูนเป็นผู้ก่อสร้าง  (เนื่องจากคนในชุมชนไม่มีผู้ใดถนัดด้านงานก่อสร้าง)  ขั้นตอนการก่อสร้างของช่างญวนเริ่มจากการเผาอิฐ   โดยใช้พื้นที่ที่ไกลออกจากหมู่บ้านเล็กน้อย  (บริเวณที่ตั้งเมรุในปัจจุบัน)  เป็นบริเวณเผา  เมื่อเผาเสร็จชาวบ้านได้ช่วยกันหาบมาไว้บริเวณสถานที่ก่อสร้าง  เพื่ออำนวยความสะดวกให้ช่าง  และร่นระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง  สีที่ใช้ในการทาผนังภายนอกอุโบสถใช้เปลือกหอยนำมาเผาแล้วตำให้ละเอียดผสมกับสี  ทำให้มีความคงทนของสี  โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างครั้งนั้นประมาณ  8,000  บาท  (พระครูอนุรักษ์  สิริธรรม, 2549, มิถุนายน  20)  จากนั้นก็ได้มีการฉลองอุโบสถขึ้นในปี พ.ศ. 2490  เป็นเวลา 2  วัน  2  คืน (ทองดี  ศรีสง่า, 2549, มิถุนายน  20)  และได้ถือเป็นอุโบสถสำคัญของชุมชนและชุมชนใกล้เคียงที่ใช้ในการประกอบสังฆกรรมตั้งแต่นั้นมา

          ประวัติการซ่อมแซมบูรณะ  ในปี  พ.ศ. 2523  พระครูอนุรักษ์  ชลาชัย  (หลวงพ่อหมอ)  ตำแหน่งเจ้าอาวาส  ได้มีการซ่อมแซมส่วนหลังคาของอุโบสถที่ชำรุด  โดยทำการเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาจากแผ่นกระเบื้องซีเมนต์หางว่าวเป็นแผ่นสังกะสี  ส่วนตัวอาคารยังไม่มีประวัติการซ่อมแซมใดๆ    นอกจากการถมดินรอบๆ อาคารสูงเท่ากับความสูงหนึ่งขั้นบันได   และปัจจุบันอยู่ระหว่างการบูรณะโดยเป็นโครงการอนุรักษ์ของกรมโยธาธิการ ทหารบก กระทรวงกลาโหม โดยมีการให้เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรมาสำรวจและวางแผนการอนุรักษ์

 

          ลักษณะทางสถาปัตยกรรม  เป็นอุโบสถทึบพื้นบ้านแบบมีมุขหน้าเป็นอาคารชั้นเดียวขนาด  4  ห้อง  สร้างโดยช่างญวน  ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาดกว้างประมาณ  4.84  เมตร  (1  ช่วงเสา)  ยาวประมาณ  8.36  เมตร  (4  ช่วงเสา)  มีมุขลดด้านหน้า  ขนาดกว้าง  1.64  เมตร  ยาว  2.53  เมตร  ฐานปัทม์  ยกสูงกว่าระดับดิน  มีบันไดขึ้นทางด้านหน้า  จำนวน  3  ขั้น  ตัวอุโบสถ  โครงสร้างเสา คาน  ก่อผนังอิฐฉาบปูนภายในฉาบทับเสาไม้  ภายนอกฉาบปูนทับเสาไม้และเขียนสี  หลังคาทรงจั่วเปิด  มีลักษณะสองซ้อนๆ ละสองตับ  และมีหลังคาลดที่คลุมมุขลดด้านหน้าที่มีลักษณะสองตับ  มีส่วนประดับหน้าบัน  ลักษณะเครื่องลำยอง  ประกอบด้วย  ช่อฟ้า  ตัวลำยอง  ใบระกา  นาคสะดุ้ง  และหางหงส์

          สภาพอาคารในปัจจุบันปรากฏรอยแตกร้าวของผนังจากแนวเสา  เริ่มปรากฏเมื่อ  20  ปีก่อน)  และหลังคารั่ว

 

          การใช้สอย  พื้นที่ใช้สอยภายในอาคารขนาดกว้างประมาณ  3.70  เมตร  ยาวประมาณ  7.20  เมตร  (26.64  ตารางเมตร)  อุโบสถหลังนี้ยังคงใช้ประกอบสังฆกรรมตามปกติ  แต่จำกัดจำนวนผู้เข้าไปในโบสถ์ มิให้มีจำนวนมากเกินไปเนื่องจากสภาพของอาคารที่มีการชำรุด

 

รูปด้านข้างอุโบสถวัดหนองบัวเจ้าป่า

รูปด้านหน้าและด้านหลังอุโบสถวัดหนองบัวเจ้าป่า

 


 

          โครงสร้างและวัสดุ

                   เสา  เสาใช้ไม้จิก  ไม้แต้ และไม้ตะเคียนหน้าตัดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  จำนวน  14  ต้น  อยู่ในแนวเดียวกับผนัง

                  ผนัง  ผนังก่ออิฐ  ฉาบปูน ผนังหนาประมาณ  0.37  เมตร  ภายในฉาบปูนเรียบ  (โดยฉาบทับหน้าเสา)  ไม่มีภาพจิตรกรรม  ผนังภายนอกฉาบปูนทาสีมีการประดับลวดลายปูนปั้นเขียนสีตามศิลปะชาวบ้าน  รูปเทพธิดา  รูปสัตว์  พานรัฐธรรมนูญ  ธงชาติ  และลวดลายเครือถัลย์  สีที่ใช้ทาอาคารภายนอกมีส่วนผสมของเปลือกหอย  ทำให้เพิ่มอายุของสีให้คงทน

                   พื้น  พื้นภายในอาคารเป็นพื้นซีเมนต์ขัดมัน  ปูด้วยเสื้อน้ำมัน

                ฝ้าเพดาน  ฝ้าเพดานไม้กระดานไม่เล่นระดับ  ไม่มีการประดับใดๆ  มีช่องสำหรับบำรุงรักษาโครงสร้างหลังคา  จากระดับพื้นภายในถึงฝ้าเพดานเป็น  3.85  เมตร   

 

              หลังคา  โครงสร้างหลังคาใช้ไม่เนื้อแข็ง  สภาพดี  ใช้แผ่นสังกะสีลูกฟูกเป็นวัสดุมุงหลังคาแทนกระเบื้องซีเมนต์หางว่าว  

รูป ผนัง พื้น ฝ้าเพดานภายในอุโบสถ และหลังคาอุโบสถวัดหนองบัวเจ้าป่า

 

                       ประตู  เป็นประตูไม้ลูกฟักบานเปิดคู่  จำนวน  1  ชุด  อยู่ด้านหน้าอุโบสถ  ขนาดบานกว้างประมาณ  0.50  สูง  2.00  เมตร  วงกบไม้ขนาดหน้าตัด  0.04 ´0.16  เมตร

 

                  หน้าต่าง  เป็นหน้าต่างลูกพักไม้บานเปิดคู่  จำนวน  6  ชุด  ขนาดบานกว้าง  0.40  เมตร  สูง  2.00  เมตร  วงกบไม้ขนาดหน้าตัด  0.04 ´0.16  เมตร  ภายนอกทำซุ้มหน้าต่างโค้ง (Arch)  ประดับลวดลายปูนปั้น

รูป ซุ้มหน้าต่าง อุโบสถวัดหนองบัวเจ้าป่า สังเกตลวดลายปูนปั้นศิลปะชาวบ้าน

 

บันได  บันไดทางขึ้นด้านหน้าอุโบสถจำนวน  5  ขั้น  แต่เมื่อมีการถมดินภายนอกโดยรอบอาคารภายหลัง  ทำให้ดินภายนอกมีระดับสูงเท่ากับความสูงของบันไดขั้นแรก  บันไดมีลักษณะผายกว้างออก  ปั้นปูนรูปนาคเฝ้าบันได  1  คู่

รูป บันไดทางขึ้นอุโบสถวัดหนองบัวเจ้าป่า

 


 

ลักษณะเด่น  อุโบสถมีลักษณะเด่นที่งดงามอยู่ที่ส่วนประดับหลังคา  เครื่อง

ลำยอง  ได้แก่  ช่อฟ้า  (แบบปากนก)  ใบระกา  ลำยอง  นาคสะดุ้ง  หางหงส์  ไม้แกะสลักที่งดงามอ่อนช้อย  และศิลปะปูนปั้นเขียนสีประดับผนังภายนอกที่เป็นลักษณะของศิลปะชาวบ้านแท้ๆ  นอกจากนี้ยังก่ออาร์คโค้งแบบ  Semi  Circular  Arch  เหนือซุ้มประตู  หน้าต่างและบันไดที่มีลักษณะผายออกนี้เองแสดงลักษณะผลงานของช่างญวนอย่างเห็นได้ชัด

 

          คุณค่าของสถาปัตยกรรมที่มีต่อชุมชน 

ผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันจำนวนหลายคนเคยมีส่วนร่วมในการก่อสร้างอุโบสถหลังนี้  จึงมีความผูกพันและภาคภูมิใจในความสำคัญและความงามของอาคารที่มีต่อชุมชนเป็นอันมาก  เนื่องจากในอดีตพื้นที่ดังกล่าวไม่มีวัดตั้งอยู่เลย  ทำให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง  (จนถึงแถบเทศบาลสตึก)  จะเดินทางมาทำบุญที่วัดหนองบัวเจ้าป่าแห่งนี้ทำให้อุโบสถหนังนี้มีคุณค่าทางด้านสังคมและทางสุนทรียภาพแบบศิลปะชาวบ้าน

 

          แรงจูงใจในการอนุรักษ์อาคาร

          คนในชุมชนมีความเห็นว่าโบสถมีคุณค่าต่อชุมชน  ต้องการอนุรักษ์อาคารหลังนี้ไว้เป็นอาคารประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  เพื่อเป็นสัญลักษณ์และพิทักษ์มรดกของสังคมอันแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ตระหนักและภาคภูมิใจ  แต่ก็มีบางส่วนที่เห็นว่าควรสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นให้มีขนาดใหญ่โตเหมือนที่ได้พบเห็นจากวัดอื่นในพื้นที่ว่างภายในวัด ควบคู่กับการอนุรักษ์อุโบสถหลังนี้

 

          แนวความคิดในการอนุรักษ์อาคารของชุมชน

          คนในชุมชนมีแนวความคิดในการอนุรักษ์ในระดับการบูรณะปฏิสังขรณ์  เพื่อให้อาคารที่ชำรุดเสียหายได้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ทั้งรูปทรงและส่วนประณีตสถาปัตยกรรมตามแบบดั้งเดิม  และมีความมั่นคงแข็งแรง

 

          กระบวนการอนุรักษ์

 

          ผู้นำชุมชนทั้งผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  นายกองค์การบริหารส่วนตำบล  และมัคทายกจะเป็นแกนนำในการร่วมกันอนุรักษ์อุโบสถ  โดยมีการพูดคุยกับชาวบ้านอย่างไม่เป็นทางการ  เพื่อรับฟังความเห็นซึ่งชุมชนมีแรงจูงใจในการอนุรักษ์ในระดับสูง  ขณะที่มีความต้องการในการที่จะก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ในระดับสูงเช่นกัน  โดยทางวัดมี ฯพณฯ พลเอกธรรมรักษ์  อิศรางกูร  ณ  อยุธยา  และครอบครัวซึ่งมีความผูกพันกับวัดมีจิตศรัทธาตั้งใจในการอนุรักษ์อุโบสถหลังเดิมไว้  โดยให้คณะวิศวกรเข้ามาตรวจสอบสภาพอาคาร  และมีแผนที่จะขอให้กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการอนุรักษ์  แต่เมื่อตรวจสอบแล้วอุโบสถดังกล่าวมิใช่โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน  จึงมิอยู่ในขอบข่ายหน้าที่ของกรมศิลปากร  ผู้นำชุมชน  เจ้าอาวาสได้รับทราบกระบวนการดังกล่าว  จึงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับคนในชุมชน  ซึ่งส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามอนุโมทนาบุญในจิตศรัทธาที่จะอนุรักษ์และต้องการให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนสามารถบูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถได้สำเร็จ  เพื่อให้ชุมชนได้ใช้สอยอาคารดังเดิม  ส่วนการดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้นทางวัดจะรับฟังมติการตัดสินใจจากชุมชน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการอนุรักษ์

 


แบบทางสถาปัตยกรรม

 

 

 

 


รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ประจำปี 2556